BACK TO EXPLORE

เลโก้ 500,000 ชิ้นในคอนเซ็ปต์ “งานวัดและการละเล่นไทย”

อยู่ที่นี่แล้ว ชั้น 1 แฟชั่นฮอลล์ สยามพารากอน

วันที่ 10-13 มกราคมนี้ สยามพารากอนมีความยินดีมอบประสบการณ์ที่สุดแห่งความตื่นตาตื่นใจ ในช่วงเทศกาลวันเด็กนี้กับงาน “สยามพารากอน เวิลด์ เพลย์กราวนด์ 2019” กับอีกสุดยอดเลโก้ที่หาดูได้ยาก ในคอนเซ็ปต์ว่า “งานวัดและการละเล่นไทย” เลโก้ 500,000 ชิ้น 12 โมเดลที่ไม่เคยมีมาก่อน สร้างมาจากจินตนาการ และความชำนาญของนักต่อเลโก้ โมเดล บิวเดอร์มือหนึ่งของเมืองไทย





มาดูดีเทลกันใกล้ๆ เลโก้ชุดนี้จะทำให้คุณยิ้มไปกับความเป็นไทยน่ารักๆ อย่างชิงช้าสวรรค์ เจดีย์ทราย บ้านลม บ้านผีสิง เวทีสาวรำวง สาวน้อยตกน้ำ ตั้งเต ขี่ม้าส่งเมือง ม้าหมุน หนังกลางแปลง ซุ้มยิงปืนจุกน้ำปลา ซุ้มขายอาหาร เมื่อเราได้คุยกับโมเดล บิวเดอร์ 3 ท่าน ทุกท่านเริ่มมาจากได้รับคอนเซ็ปต์ เอามาคิดเป็นงาน ดีไซน์ออกมา ทำลิสต์ชิ้นส่วนเลโก้ทั้งหมดที่ต้องใช้ และต่อกันจริงๆ ใช้เวลาต่อทั้งหมด 3 เดือน และวันนี้ทุกท่านจะนำโมเดลของตนมาประกอบกันเข้าเป็นเลโก้อลังการชุดนี้














คุณกิตติพงศ์ รุ่งเรืองสาร โมเดล บิวเดอร์ผู้ต่อ “ชิงช้าสวรรค์” เล่าให้ฟังว่า “ชิงช้าสวรรค์ยากที่สุดคือต้องคิดว่าจะทำให้หมุนได้ยังไง ใช้มอเตอร์ของเลโก้เอง ลองต่อตัวชิงช้าดูก่อน พอเทสต์ว่าหมุนได้แล้ว ค่อยทำสเกลที่ใช่ และตกแต่งสิ่งอื่นๆ เพิ่มเข้ามา” คุณกิตติพงศ์ยังบอกด้วยว่าตอนที่ต่อ ต้องคิดเผื่อว่าคนอื่นเขาจะทำเป็นรูปอะไร พอมาประกอบกันทั้งหมดจะได้สวยงามลงตัว คุณกิตติพงศ์เสริมอีกว่า “เลโก้จะช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นคนช่างสังเกต”




ส่วนมุมเลโก้ที่มีความวิบวับโป๊งชึ่งสนุกสนาน ต้องยกให้ “เวทีสาวรำวง” ที่เป็นผลงานของคุณจอม พงศ์สิทธิ์ รัตนกรวิทย์ โมเดล บิวเดอร์ที่ต่อเลโก้มากว่า 30 ปี คุณจอมเล่าว่าหลังจากได้รับโจทย์มาให้ทำสาวรำวง ทำให้เขานึกถึงความเคลื่อนไหว ต่อเป็นขบวนและสีสันไฟกะพริบ มอเตอร์เองก็ใช้ของเลโก้ ถ้าดูใกล้ๆ เราจะเห็นรายละเอียดที่เป็นแม้กระทั่งเสื้อลายดอก “งานที่ทำขึ้นมาจะคิดถึงชิ้นส่วนไหนเอามาทำส่วนประกอบอะไรก่อน เช่น เสื้อลายดอก ผมใช้เป็นเทคนิคบริคแบบรู แล้วเอาดอกไม้มาเสียบก็จะพอดีกัน และถ้าพูดถึงสาวรำวง เราก็จะนึกถึงบรรยากาศงานวัด มีนักร้อง วงดนตรี มีผู้ชายมาโค้งขอเต้นรำ พอมีข้อมูลพวกนี้และเรารู้ว่าเลโก้ไม่เคยทำเครื่องดนตรีไทยมาก่อน เราอยากทำระนาด เป่าแคน อยากทำคนเล่นโปงลาง เป็นความสนุกของคนต่อที่ทำให้คนดูสามารถรับรู้ได้ รวมทั้งกิมมิคตลกๆ มากมายในการต่อ อย่างหน้าเวทีจะมีหนุ่มมาทำท่าซารางเฮโยขยับได้ หรือมีผู้ชายใส่ทองเส้นใหญ่ที่คอให้ดูขำๆ”




เดินมาอีกนิดจะเจอกับน้องๆ “เด็กไทย” ยืนต้อนรับอย่างอ่อนช้อยน่ารักที่หลายคนอาจไม่รู้เบื้องหลังว่าต้องใช้เวลาในการคิด วางแผนและต่อขึ้นมานานถึง 3 เดือนโดยโมเดล บิวเดอร์อย่างคุณโอ๋ สุชีพ เศรษฐธนานนท์ เขาได้รับโจทย์มาให้สร้างงานเลโก้แบบ sculpture โดยใช้บริคสี่เหลี่ยมมาตรฐานอย่างเดียว “ปกติแล้วเลโก้จะมี 2 แนวทางทั้งแบบ building และ sculpture โดยการต่อแบบ building จะมีพาร์ทพิเศษอย่างตัวโค้งมาช่วย ส่วนแนวสคัลป์เจอร์ที่เป็นการต่อเด็กไทย 3 ตัวนี้จะใช้บริคมาตรฐานเลยต้องใช้ความชำนาญในการสร้างมุมโค้ง และข้างในต้องกลวง มีแค่โครงสร้างให้แข็งแรงด้านใน ทุกส่วนในการต่อไม่ได้ผ่านคอมพิวเตอร์แต่ใช้จินตนาการลองผิดลองถูกเอง อย่างหน้าเด็กยากมากๆ อย่างเด็กชุดราชปะแตนต่อมาเป็นหน้าที่ 10 กว่าจะใช่ เพราะความแตกต่างอยู่ที่เด็กจะต้องดูแบ๊วๆ แต่เวลาต่อหน้าผู้ใหญ่จะต้องมีโหนกแก้ม ทรงคิ้วเลยเปลี่ยนให้หน้าแบนลง จมูกเล็กลง หรือตอนแรกทำตาเด็กเรียวๆ ก็ไม่ได้เลย ต้องทำตาโต ในส่วนหัวนี่ใช้เวลานานร่วมเดือนเลยทำให้ใช้เวลานานเกือบ 3 เดือนครับ” นี่ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เราได้พูดคุยของเหล่าโมเดล บิวเดอร์




มาดูฝีมือการสร้างสรรค์ผลงานของทีมโมเดล บิวเดอร์มือหนึ่งของเมืองไทยอีกหลากหลายแบบได้ที่งาน Siam Paragon World Playground 2019 แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน ตั้งแต่วันนี้ถึง 13 มกราคม 2562