BACK TO EXPLORE

ของขวัญจากพ่อ

12 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านคมนาคมในกรุงเทพฯ

เป็นที่รู้กันดีว่า “ปัญหารถติด” เป็นเรื่องใกล้ตัวของคนใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะ “ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร” เป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายของชาวกรุง ด้วยความที่ปริมาณพื้นที่ถนนไม่สมดุลกับปริมาณรถยนต์ที่มีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการจราจรที่ติดขัด ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยพระอัจริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นความสำคัญของปัญหาการจราจรที่นับวันมีแต่เพิ่มมากขึ้น จึงได้พระราชทานโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการคมนาคมหลายโครงการให้แก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดูแล ซึ่ง “กรุงเทพมหานคร” เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับการแก้ปัญหาการจราจรต่างๆ เพื่อให้การคมนาคมสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เราจึงรวบรวมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการคมนาคมในกรุงเทพฯ ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 9

 

1. โครงการถนนรัชดาภิเษกทางแยกต่าง ระดับบนถนนรัชดาภิเษก-วิภาวดี รังสิตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

นับเป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรอันกว้างไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. 2514 ซึ่งขณะนั้นปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ยังไม่เข้าขั้นวิกฤต แต่พ่อหลวงทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกล สามารถคาดการ์ณปัญหาการจราจรในปัจจุบันได้ โดยมีพระราชดำริให้หน่วยงานหลายหน่วยที่รับสนองพระบรมราชโองการ เช่น กรมทางหลวง กรมโยธาธิการ และกรุงเทพมหานคร แก้ปัญหาการจราจร โดยการเตรียมการสร้างโครงข่ายวงแหวนไว้ โดยได้ก่อสร้างและเชื่อมต่อเส้นทางทีละส่วนจนครบวงรอบ และเสร็จสมบูรณ์วันที่ 12 สิงหาคม 2536

ปัจจุบันถนนรัชดาภิเษกมีความยาวทั้งสิ้น 45 กิโลเมตร ประกอบด้วยถนนสายเดิมที่มีอยู่หลายสายและถนนที่สร้างขึ้นมาใหม่อีกจำนวนหนึ่ง

 

2. โครงการก่อสร้างถนนชุมชนบึงพระราม 9 เชื่อมระหว่างถนนพระราม 9 ถนนประชาอุทิศ


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรบริเวณถนนพระราม 9 และต่อเชื่อมกับถนนเอกมัย-รามอินทรา ทำให้เส้นทางคมนาคมเดินทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้น มีหน่วยงานกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล ก่อสร้างถนนและปรับปรุงเส้นทาง โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีต เสริมเหล็กขนาด 4 ช่องทางจราจร กว้าง 14 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 3 เมตร พร้อมท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,000 มิลลิเมตร และสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 แห่ง งบประมาณการก่อสร้าง 64.1 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2534 และปิดการจราจรเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2537


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

 

3. โครงการก่อสร้างปรับปรุงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ (เดิม)


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

เป็นโครงการปรับปรุงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ขยายผิวการจราจรถนนราชดำเนินบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ (เดิม) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “โครงการถนนหยดน้ำ” เกิดจากสาเหตุการคับคั่งของการจราจรบริเวณถนนราชดำเนิน กลาง ซึ่งเกิดจากรถมีจำนวนมากและต้องมาหยุดรอไฟสัญญาณจราจรที่มี 4 จุด ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ยกเลิกสัญญาณจราจรและจัดระเบียบการจราจรใหม่ และโปรดเกล้าพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ขยายการปรับปรุง พื้นที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์เดิม ให้กลายเป็นพื้นผิวการจราจรช่วงทางลงจากสะพานพระปิ่นเกล้า 4 ช่องจราจรและ 1 ช่องซ้ายสุด สร้างให้เป็นทางวนกลับรถเข้าสู่ถนนเจ้าฟ้ารอดใต้เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าออกสู่สนามหลวงได้ทันที และหากมองจากมุมสูงจะมีลักษณะคล้ายหยดน้ำ เพื่อให้มีเส้นทางคมนาคมเดินทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้น

 

4. โครงการขยายผิวจราจรสะพานผ่านฟ้าลีลาศ


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เป็นมรดกที่มีคุณค่าทางศิลปกรรมและประวัติศาสตร์ของชาวไทย ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็น "โบราณสถานของชาติ" เพื่อให้การคมนาคมบริเวณสะพานสะดวกและรวดเร็วขึ้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชดำริแนวคิดในการแก้ไขแบบแปลนที่จะปรับปรุงและขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ให้ขยายผิวถนนออกไปทั้ง 2 ช่องจราจรมีความยาวประมาณ 25 เมตร โดยทรงกำชับให้ระมัดระวังในเรื่องการอนุรักษ์รูปแบบประติมากรรมให้เหมือนเดิมด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่ขยายผิวการจราจรเพียงอย่างเดียว

 

5. โครงการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนน รัชดาภิเษกบริเวณหน้าศาลอาญา


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

การจราจรบริเวณถนนรัชดาภิเษกมีประชาชนใช้เส้นทางการสัญจรจำนวนมาก สภาพการจราจรมีความคล่องตัวพอสมควร รถยนต์ส่วนใหญ่จึงใช้ความเร็วค่อนข้างสูง ช่วงโค้งจากแนวสะพานลอยข้ามทางแยกรัชโยธิน เป็นมุมอับ ทำให้รถที่แล่นมาด้วยความเร็วสูงจากบริเวณดังกล่าวมองไม่เป็นประชาชนที่เดินข้ามถนน เกิดอุบัติเหตุอยู่เป็นประจำ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชดำริให้ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามรัชดาภิเษกบริเวณหน้าศาลอาญา และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 3 ล้านบาทในการดำเนินงานให้แก่กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพมหานครใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีก จำนวน 4.187 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างสะพานคอนกรีตที่ไม่มีเสากลางยาว 34 เมตร กว้าง 3.20 เมตร

เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2537 และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537 เพื่อลดอุบัติเหตุและสร้างความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนทั่วไปใช้ข้ามถนน

 

6. โครงการถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรีเขต บางกอกน้อย


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

จากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปโรงพยาบาลศิริราช และทรงศึกษาพื้นที่โดยรอบอย่างละเอียด จึงมีพระราชดำริที่จะขยายแนวถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ เพื่อช่วยลดปริมาณการจราจรบนถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณสามแยกไฟฉาย และเป็นเส้นทางลัดเชื่อมต่อไปยังย่านสำคัญ ได้แก่สถานีรถไฟธนบุรี โรงพยาบาลศิริราช และตลาดพรานนก ซึ่งต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานชื่อถนนสายนี้ตามชื่อวัดในบริเวณดังกล่าวว่า “ถนนสุทธาวาส” ช่วยบรรเทาปริมาณรถยนต์ที่ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ บรรจบกับถนนพรานนก(สามแยกไฟฉาย) ให้น้อยลง ซึ่งทำให้การจราจรที่ถนนจรัญสนิทวงศ์คล่องตัวขึ้น นอกจากนี้ ถนนสายนี้ยังเป็นเส้นทางอีกเส้นทางหนึ่งที่จะไปสู่จุดชุมชนในย่านสำคัญๆ เช่น สถานีรถไฟสายธนบุรีโรงพยาบาลศิริราช ตลาดพรานนกได้อีกด้วย เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2536 งบประมาณดำเนินการ 16.5 ล้านบาท และได้เปิดการจราจรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

 

7. โครงการก่อสร้างถนนคู่ขนานถนนพระราม 9 จากแยกเข้าวัดอุทัยธารามถึงก่อนขึ้นทางด่วนขั้นที่ 2


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2536 ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ทางกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ สร้างถนนคู่ขนานขึ้นบริเวณถนนพระราม 9 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในบริเวณนั้นให้มีการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วขึ้น

 

8. โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนพระราม 9 กับถนนเทียมร่วมมิตร


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

นับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกและลดระยะการเดินทางระหว่างถนนเทียมร่วมมิตรกับถนนพระราม 9 โดยไม่ต้องผ่านแยก อ.ส.ม.ท ทรงมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณถนนรัชดาภิเษก และถนนพระราม 9 โดยสร้างถนนเพื่อเป็นทางลัดในพื้นที่ซึ่งเดิมเคยรกร้างว่างเปล่า ด้านข้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยข้างกรมการผังเมืองบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นถนนที่มีความยาวประมาณ 1,425 เมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2537 แล้วเสร็จ เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 งบประมาณในการก่อสร้างรวม 33.7 ล้านบาท


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

 

9. โครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพาน มัฆวานรังสรรค์


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์ถนนราชดำเนินนอก เพื่อให้การจราจรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กับบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยให้กรุงเทพมหานครดูแลก่อสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานเดิมโดยไม่ต้องย้ายน้ำพุ และให้มีระดับความสูงน้อยกว่าสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยสะพานคู่ขนานทั้งสองสะพานมีความกว้างสะพานละ 15 เมตร ขนาด 3 ช่องทางจราจร ทำให้การจราจรคล่องตัวอย่างต่อเนื่อง เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2537 แล้วเสร็จเปิดการจราจรในวันที่ 2 ธันวาคม 2537

 

10. โครงการสะพานพระราม 8


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

หนึ่งในโครงการจตุรทิศที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เมื่อปี 2538 ณ บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “โครงการสะพานพระราม 8” เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 ด้วยทรงตระหนักถึงความคับคั่งของการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอนาคตแก้ปัญหาจราจรระหว่างพื้นที่ฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะกรุงเทพชั้นใน ที่ยังขาดการเชื่อมต่อที่เพียงพอให้สามารถคลี่คลายลงได้

 

11. โครงการก่อสร้างสะพานจตุรทิศตะวันออก


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

โครงการจตุรทิศตะวันออก แบ่งออกเป็น 4 ช่วงคือ
1. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ก. บริเวณถนนศรีอยุธยา ไปยังถนนาชดำเนินนอกจนถึงถนนสวรรคโลก
2. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ข. จากถนนศรีอยุธยาถึงถนนอโศก-ดินแดง
3. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ค. จากบริเวณบึงมักกะสันถึงถนนเลียบคลองบางกะปิ
4. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ง. จากถนนเลียบคลองบางกะปิถึงถนนพระราม 9

เป็นโครงข่ายที่สำคัญและเป็นโครงข่ายใหญ่มีการก่อสร้างถนนและสะพานเชื่อมโครงการย่อๆ ปลายโครงการเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด รวมไปถึงถนนเชื่อมต่อสายอื่นได้แก่ ถนนราชดำเนินนอก ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนอโศก-ดินแดง ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี และถนนพระราม 9 การก่อสร้างโครงการเริ่มต้นจากทิศตะวันตก ต่อเนื่องกับโครงการพระราชดำริทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนีและโครงการพระราม 8 ไปยังทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่าโครงการจตุรทิศได้สะท้อนถึงพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งผลของโครงการนั้นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาพสกนิกรกันถ้วนหน้าอยู่ในขณะนี้

 

12. โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี


ที่มารูป : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องจากปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนถึงทางแยกสิรินธรทำให้ช่องทางการจราจรที่มีอยู่ 8 ช่องทาง ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พื้นที่ถนนที่เพิ่มขึ้น วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดคือ การเพิ่มพื้นที่จราจรด้วยการสร้างทางยกระดับขึ้นช่วงหนึ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการจราจรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ลักษณะโครงการเป็นสะพานยกระดับ  เริ่มที่เกาะกลางจากแยกอรุณอมรินทร์ถึงพุทธมณฑลสาย 2 โดยขาออกจะขึ้นที่แยกอรุณอมรินทร์ ลงได้ 3 จุดที่ตลิ่งชันหน้าหมูบ้านกฤษดานคร และใกล้วงแหวนฉิมพลี ไม่มีทางขึ้นระหว่างทาง ส่วนขาเข้าขึ้นที่ต้นทางก่อนถึงพุทธมณฑลสาย 2 ขึ้นได้ที่หน้าหมู่บ้านกฤษดานครและตลิ่งชัน และจะไม่มีทางลงระหว่างทาง โดยแบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างโครงการฯ เป็น 2 ส่วน คือ
  1. โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ตอนปิ่นเกล้าทางแยกต่างระดับสิรินธร เริ่มดำเนินการตั้งแต่บริเวณทางแยกอรุณอมรินทร์ ถึงทางแยกต่างระดับสิรินธร ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 4,515 กิโลเมตรมอบให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบดำเนินงาน
  2. โครงการต่อเนื่องจากทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ตอนทางแยกต่างระดับสิรินธร – ทางแยกต่างระดับฉิมพลี เริ่มดำเนินการต่อเชื่อมกับโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนีของกรุงเทพมหานคร บริเวณทางแยกต่างระดับสิรินธร และสิ้นสุดโครงการบริเวณเลยจุดข้ามทางแยกพุทธมณฑลสาย 2 ไปประมาณ 500 เมตร ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 9,363 กิโลเมตรมอบให้กรมทางหลวงรับผิดชอบดำเนินการ


และนี่ก็เป็น 12 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของขวัญจาก “พ่อ” ที่ทำให้ชีวิตคนกรุงเทพฯ สะดวกสบายขึ้นกว่าที่เคย ซึ่งนอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระดำริเพื่อปวงประชา เสมือนพระราชดำรัสที่พ่อได้ตรัสไว้…

 

ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์
แต่หน้าที่ของข้าพเจ้า
ไม่ใช่หน้าที่ของกษัตริย์ เป็นสิ่งยากที่จะระบุ

ข้าพเจ้าเพียงแค่ทำสิ่งต่าง ๆ
ที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย

- พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานสัมภาษณ์แก่ BBC -


ขอบคุณแหล่งข้อมูลและภาพประกอบ: สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) http://km.rdpb.go.th