BACK TO EXPLORE

ทำความรู้จัก 9 อาหารจากแผ่นดินของโครงการหลวง

ก่อนจะไปช้อปตลาดนัดร่วมสมัย Royal Project Market @ Siam Paragon

จากต้นไม้ต้นเล็กๆ ที่ผ่านสายพระเนตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่พลิกฟื้นชีวิตของเหล่าเกษตรกรบนที่สูงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปลี่ยนอาชีพจากเจ้าของไร่ฝิ่นบนภูเขาหัวโล้นเป็นเกษตรกรของโครงการหลวงที่อยู่ดีกินดี มีรายได้อย่างยั่งยืน  ผลผลิตจากโครงการหลวงก็ส่งขายทั่วประเทศ หล่อเลี้ยงให้คนไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย





สยามพารากอนชวนคุณมาทำความรู้จักสินค้าจากโครงการหลวงให้มากขึ้นผ่านการชม ช้อป และชิมในงาน Royal Project Market @ Siam Paragon ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากโครงการหลวงบนยอดดอยมาไว้กลางใจเมือง โดยเฉพาะผลิตผล 9 ชนิดที่ถูกยกให้เป็น “อาหารจากแผ่นดิน” ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นเมนูใหม่ๆ ให้คุณได้ชิมภายในงาน เชื่อว่าผลผลิตบางชนิดคุณอาจจะไม่เคยชิม หรือแม้แต่รู้จักมาก่อน



1. มะเดื่อฝรั่ง (Fig)

ผลไม้รูปร่างแปลกตาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญนี้เปี่ยมไปด้วยประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร มะเดื่อฝรั่งให้พลังงานสูง แต่กลับมีคอเลสเตอรอลและไขมันต่ำ อุดมไปด้วยแคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส สารต้านอนุมูลอิสระ ผลไม้ชนิดนี้จึงเป็นที่นิยมสำหรับนักวิ่งมาราธอนหรือนักไตรกีฬา



2. สตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry)

ผลไม้ยอดนิยมอย่างสตรอว์เบอร์รี่เป็นหนึ่งในผลผลิตเด่นของโครงการหลวง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนำสายพันธุ์จากต่างประเทศมาปรับปรุงให้เหมาะกับสภาพอากาศ จนได้สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทานหลายสายพันธุ์ที่สร้างรายได้รวมสูงกว่า 140 ล้านบาทต่อปี

เมื่อปี 2558 มูลนิธิโครงการหลวงได้นำพันธุ์พระราชทาน 80 มาผสมกับพันธุ์พระราชทาน 60 จนได้สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 88 ที่มีจุดเด่นคือรสชาติดี เนื้อละเอียดแน่นแต่ละลายในปาก ที่สำคัญมีกลิ่นหอมที่โดดเด่นกว่าสายพันธุ์อื่น




3. ถั่วแดงหลวง (Red Kidney Bean)

เมื่อ 48 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพันธุ์ถั่วแดง Red Kidney Bean ให้ชาวเขาได้ทดลองปลูก เพื่อแก้ปัญหาการทำไร่ฝิ่น ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ “ถั่วแดงหลวง” กลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้เกษตรบนพื้นที่สูง

ถั่วแดงหลวงมีใยอาหารสูง เจลจากแป้งจะไปเคลือบผิวลำไส้เล็ก ทำให้การดูดซึมน้ำตาลและไขมันเป็นไปอย่างช้าๆ  ทำให้รู้สึกอิ่มนาน ไม่หิวบ่อย ถั่วแดงหลวงจึงเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่ใช้สร้างสรรค์เมนูเพื่อสุขภาพ



4. ข้าวกล้องดอย (Highland Brown Rice)

เพราะข้าวคืออาหารหลักของคนไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระราชทานแนวคิดการปลูกข้าวแบบอยู่ดีมีสุข โดยเน้นการปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนก่อน เมื่อเหลือจึงนำมาขายหรือนำมาฝากไว้ที่ “ธนาคารข้าว” ให้สมาชิกได้มากู้ยืมข้าวไปบริโภคได้ และนำมาคืนในฤดูกาลถัดไปพร้อมกับดอกเบี้ยที่เป็นข้าวเปลือก

ข้าวกล้องดอย คือข้าวที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญ เพราะเป็นข้าวที่กะเทาะเพียงอย่างเดียว ไม่ผ่านการขัดสี เมล็ดข้าวมีขนาดใหญ่ อ้วนป้อมคล้ายข้าวญี่ปุ่นแต่ใหญ่กว่า มีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดติดอยู่มาก จึงอุดมไปด้วยวิตามินบี 1 สูง ดีต่อการทำงานของระบบประสาท ป้องกันโรคเหน็บชา โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ข้าวของโครงการหลวงมี 3 ประเภทคือ ข้าวกล้องดอย ข้าวดอยซ้อมมือ และปลายข้าวกล้อง




5. รูบาร์บ (Rhubarb)

ผักชื่อแปลกที่หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่รูบาร์บถือเป็นพืชชนิดแรกๆ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนำมาทดลองปลูกตั้งแต่สมัยเริ่มโครงการหลวง เมื่อปี 2512 รูบาร์บในภาพจำของผู้บริโภคคือผักก้านสีแดง รสชาติเปรี้ยวจัด สามารถใช้แทนมะนาวในการปรุงอาหารได้ คนส่วนใหญ่จึงนิยมนำไปเป็นวัตถุดิบในการชูรสของอาหาร โดยเฉพาะของหวานอย่างเช่น แยม พาย ทาร์ต และไอศครีม

6. พีช (Peach)

ลูกพี้ช หรือในชื่อที่คุ้นเคยอย่าง “ท้อ” ชื่อดูฟังเหมือนชวนให้หมดกำลังใจ แต่สำหรับโครงการหลวงแล้ว ชื่อนี้มีความหมายสำคัญที่ให้ทั้งกำลังใจและให้ชีวิตใหม่กับชาวเขามามากกว่า 40 ปี โดยมีพันธุ์เด่นคือ “อำพันอ่างขาง” ที่มีผลกลม เนื้อสีเหลืองอำพัน ฉ่ำน้ำ รสชาติหอมหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารสูง มีทั้งวิตามินเอ วิตามินซี จึงเหมาะที่จะรับประทานสดๆ



7. กาแฟ (Coffee)

เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับกาแฟของโครงการหลวงเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพันธุ์อราบิก้า” ที่มีจุดเด่น คือกลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อม อ่อนละมุน ทำให้กาแฟสามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลูกฝิ่น ทำให้ชาวเขาหันมาปลูกกาแฟแทนการทำไร่เลื่อนลอย ต้นกาแฟต้องปลูกใต้ร่มเงา ผลพลอยได้ที่ตามมาคือป่าไปในตัว ปัจจุบันโครงการหลวงมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้าในศูนย์พัฒนา 24 ศูนย์ รวมกว่า 9,491 ไร่ ที่ให้ผลผลิตประมาณ 400 – 500 ตัน

8. ชา (Tea)

เมื่อมีกาแฟแล้วก็ต้องมีชาที่ถือเป็นของคู่กัน จุดเริ่มต้นของชาในโครงการหลวง เกิดขึ้นเมื่อปี 2535 ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และได้พัฒนา ปรับปรุง นำองค์ความรู้ในการปลูกชาแบบอินทรีย์ให้เหล่าเกษตรกร จนปัจจุบันมีชา 3 ชนิดที่เป็นผลผลิตหลัก ได้แก่ ชาเขียว ชาอู่หลง และชาแดง

9. ปศุสัตว์ (Livestock)

นอกจากการเกษตรแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงให้ความสำคัญกับปศุสัตว์ ในช่วงแรกของโครงการหลวง ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวเขา มักจะพระราชทานแม่พันธุ์สัตว์เลี้ยงเสมอ เพื่อให้เป็นแหล่งโปรตีนและอาจต่อยอดเป็นอาชีพได้




นับตั้งแต่ปี 2530 โครงการหลวงมีผลผลิตจากการปศุสัตว์ที่หลากหลาย ทั้งเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่นำมาแปรรูป สร้างรายได้งามให้กับเกษตรกรของโครงการหลวงได้เป็นอย่างดี โดยสัตว์ที่เป็นจุดเด่นมีหลายชนิด ได้แก่ ไก่เบรส ไก่รสชาติเยี่ยมจากฝรั่งเศส รวมถึงไก่ฟ้าคอแหวนและไก่กระดูกดำ ปลาสเตอร์เจี้ยนที่ให้ผลผลิตเป็นไข่ปลาคาเวียร์ราคาสูง ปลาเรนโบว์เทร้าต์ที่สามารถเลี้ยงได้ตลอดปี นอกจากนี้ยังมีสุกรพันธุ์เปียแตรง สุกรลูกผสม สุกรพันธุ์เหมยซาน กวาง แพะเนื้อพันธุ์บอร์ กระต่ายพันธุ์เนื้อ และผลิตภัณฑ์นมจากวัว แพะ และควายที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ออกจำหน่ายอีกมากมาย



ผลผลิตไฮไลต์ทั้ง 9 อย่างนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสินค้าที่วางขายในงานเท่านั้น ที่งาน Royal Project Market @ Siam Paragon คุณจะได้พบกันสินค้าจากโครงการหลวงอีกหลากหลายรายการ ทั้งพืชผักสดปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมถึงเมนูเด็ดจากเชฟชื่อดังที่ร่วมกันสร้างสรรค์เมนูอร่อยจากผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวง เช่น ข้าวเกรียบอ่อนไส้ปลาเทร้าต์ ส้มตำข้าวเกรียบหลวง พิซซ่า เบรด ไส้กรอกหมูสด ทาร์ตองุ่น กาแฟสด และน้ำผักผลไม้ ครบทั้งของคาว ของหวาน และเครื่องดื่ม ให้คุณนั่งลิ้มรสความอร่อยไปพร้อมกับอากาศเย็นๆ ราวกับอยู่บนดอย






Royal Project Market @ Siam Paragon จัดขึ้นที่บริเวณฮอลล์ ออฟ เฟม และพาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่วันนี้ – 30 พฤศจิกายนนี้ บรรยากาศบนยอดดอยและตลาดนัดสินค้าโครงการหลวงกำลังรอคุณอยู่