ความบังเอิญที่เกิดโดยตั้งใจ: ‘ปาสคาล ดอมบีส์’ กับการออกแบบงานศิลปะให้มีชีวิตขึ้นมาได้เอง
ปาสคาล ดอมบีส์ ศิลปินดิจิทัลอาร์ต ชาวฝรั่งเศส ร่วมกับสยามพารากอน สร้างสรรค์ปรากฏการณ์ศิลปะดิจิทัลสุดล้ำ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอัลกอริทึมอันซับซ้อน เกิดเป็นผลงานศิลปสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น ล้อคู่ไปกับสีสันของฟากฟ้าและตัวเมืองกรุงเทพฯ
สยามพารากอน ฉีกกฎก้าวข้ามกรอบคำจำกัดความของ “ลักซ์ชัวรี่” ไปอีกขั้นด้วยการนำเสนอ “New World of Luxury” นิยามแห่ง “ลักซ์ชัวรี่” ในมิติใหม่ ที่เน้นการรังสรรค์ “สุดยอดประสบการณ์” ที่จะเติมเต็มมิติชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้คนด้วยการนำเสนอ สุดยอดศิลปะ “Siam Paragon’s World Art Collective” ที่เหล่าศิลปินระดับโลกมาร่วม Co-create ผลงานศิลปะร่วมสมัยสุดเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับสยามพารากอนโดยเฉพาะ รวมทั้งรวบรวมผลงานจากเหล่าศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้าทั้งจากไทยและนานาประเทศ
วันนี้เราภูมิใจนำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษของ “Pascal Dombis (ปาสคาล ดอมบีส์)” ศิลปินผู้สร้างสรรค์ AURORA ผลงาน 1 ใน 9 ชิ้นสำหรับนิยามใหม่ของสยามพารากอน ติดตั้งเหนือหลังคากระจกทรงรีของชั้น 5 สยามพารากอน ลวดลายสีสันอันงดงามแปลกตาส่องให้เห็นแก่ผู้ที่เยี่ยมเยือนอยู่เบื้องล่าง
การสร้างสรรค์ผลงานและแรงบันดาลใจ
“กลมกลืนแต่โดดเด่น” ปาสคาล ดอมบีส์ ศิลปินดิจิตอลอาร์ตผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะด้วยอัลกอริทึมจากเมืองปารีส กับผลงานชิ้นล่าสุดที่ติดตั้งอยู่กลางสยามพารากอน ศูนย์การค้าชั้นนำระดับโลก ผลงานสูงตระหง่านฟ้าที่แม้จะกลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมเรียบหรู แต่ก็สามารถสะกดให้ผู้ที่ผ่านไปมาหยุดเพื่อหันมอง และหลงใหลไปกับประสบการณ์แปลกตา ที่พลาดไม่ได้
แผงสีตระการตาจากการโปรแกรมข้อมูลสุดไดนามิกของดอมบีส์ เชิญชวนให้ผู้ที่สัญจรผ่านได้แหงนมองและสำรวจรอบๆ จุดจัดแสดงผลงาน เสมือนการเฉลิมฉลองให้กับความไม่แน่นอนของลวดลายและสีสันแห่งธรรมชาติ แต่ยังคงชูไฮไลต์ให้กับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับสถาปัตกรรมนำสมัยของสยามพารากอนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผลงานจัดแสดงของดอมบีส์ชิ้นล่าสุดนี้ เป็นตัวแทนของชิ้นงานที่รวมพลังของศิลปะกับเทคโนโลยีเข้าด้วยกันได้อย่างน่าประทับใจ
ยก 'แสงเหนือ' มาไว้ใจกลางกรุงเทพฯ
ผลงานศิลปะชิ้นนี้ขึ้นเป็นโครงสร้างทรงกลมประกอบด้วยแผงเลนติคูลาร์ 24 แผง โดยแต่ละแผงแสดงลวดลายสีสันที่แตกต่างกัน สร้างเป็นวงวนสีสันที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่รู้จบ “ผลงานของผมที่สยามพารากอน ได้รับแรงบันดาลใจจากแสงเหนือ หรือ ออโรรา (Aurora Borealis)” ปาสคาล ดอมบีส์ อธิบาย “ในขณะที่แสงเหนือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ผลงานของผมเป็นผลที่ได้จากการประมวลผลคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน”
ผลงานของดอมบีส์ พาผู้ชมสำรวจและสร้างภาพของภูมิทัศน์เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันของเรา ด้วยประสบการณ์ทำงานกับอัลกอริทึมมานานกว่า 30 ปี ตัวศิลปินได้ค้นพบปรากฏการณ์ทางศิลปะในแบบของตัวเอง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นทั้งสิ่งที่เป็นธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้นได้ในคราเดียวกัน ระหว่างความพยายามที่จะใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างสรรค์สัญญะรูปทรงเรขาคณิตหรืออักษร เขากลับสร้างออกมาได้เป็นรูปแบบที่แปลกประหลาดและสภาพแวดล้อมที่ไร้เหตุและผล ผลลัพธ์นี้กลายเป็นหัวใจสำคัญในผลงานของดอมบีส์
‘ความขัดแย้งลักลั่นทางสายตา (Visual Paradox) ที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมอย่างเป็นระบบของกฎง่ายๆ (โปรแกรมคอมพิวเตอร์) และผลลัพธ์ที่ไร้เหตุผลเกินคาดเดา (ศิลปะ)’ ด้วยกระบวนการที่เป็นระบบเหมือนเครื่องจักรแต่ในขณะเดียวกันก็เอาแน่นอนไม่ได้ของดอมบีส์ เกิดเป็นกฎเกณฑ์ที่แม้ถูกสร้างโดยคอมพิวเตอร์ แต่กลับสร้างผลงานที่เกิดคาดเสมือนมีชีวิตเป็นของตัวเอง
ใช้เทคโนโลยีสร้างการรับรู้อันละเอียดอ่อน
การพิมพ์เลนติคูลาร์เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เลนส์ในการสร้างภาพพิมพ์ลวงตาให้เห็นความตื้นลึก หรือสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวเมื่อมองจากมุมต่าง ๆ “ผมชอบทำงานกับเลนติคูลาร์มาก คุณสามารถใส่อะไรลงไปได้มากมาย และคุณก็จะได้ความประหลาดใจและสิ่งที่ไม่คาดคิดที่มากมายกลับมาเช่นกัน และผมยังชอบที่มันทำให้ผู้ชมต้องขยับไปรอบ ๆ ผลงาน เพื่อจะรับรู้ข้อมูลภาพทั้งหมดทุกอย่าง ซึ่งมันหมายความว่าทุกคนก็จะได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไปจากผลงานชิ้นนี้”
ในทุกความอุตสาหะของของศิลปินก็มักมีเรื่องท้าทายเข้ามา หนึ่งในความท้าทายเหล่านั้นคือการทดลองโค้งรูปทรงของแผงเลนติคูลาร์ ซึ่งทำให้คุณสมบัติของแผงเปลี่ยนไปอย่างมาก แต่อย่างไรดอมบีส์ก็ตั้งใจที่จะสร้างโครงโค้งมนชิ้นนี้ โดยอธิบายว่า “ผมอยากให้ผลงานของผมมีความเจาะจงกับสถานที่และเล่นล้อไปกับสถาปัตยกรรมที่มันตั้งอยู่”
ความท้าทายของการสร้างงานศิลปะสาธารณะ
อีกหนึ่งความท้าทายสำหรับดอมบีส์คือ ปัญหาที่มักมาพร้อมกับงานศิลปะสาธารณะ (Public Art) “เวลาสร้างศิลปะสาธารณะ ศิลปินเหมือนกำลังสร้างผลงานให้ผู้คนที่สัญจรไปมาโดยไม่ได้ตั้งใจ มากกว่าผู้ชมที่ตั้งใจมาดูผลงาน” ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างผลงานที่ไม่กระโตกกระตากจนรบกวนพื้นที่สาธารณะ แต่ยังคงสามารถดึงดูดสายตาและสร้างความสุขให้กับผู้ชมได้ “ผมอยากยั่วและสร้างความประหลาดใจแก่ผู้คน” ดอมบีส์กล่าว
เมื่อถามเกี่ยวกับมุมมองเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างศิลปะจากตะวันตกและเอเชีย ปาสคาล ดอมบีส์ ตอบว่า “ผมคิดว่าศิลปะเป็นการผสมผสานของวัฒนธรรมและอิทธิพลรอบข้างมาตลอด ตั้งแต่ผมมาที่นี่ และได้ทำผลงานชิ้นใหม่นี้กับสยามพารากอน ผมได้รับแรงบันดาลใจจากประเทศไทยหลายอย่าง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ กับสีสันของเมืองและเส้นของฟ้า”
ปาสคาล ดอมบีส์ ยังแสดงความคิดเห็นต่อการร่วมงานกันในครั้งนี้ของเขาและสยามพารากอนอีกว่า “ผมสนุกกับการทำงานกับทีมสยามพารากอนมาก ผมคิดว่ามันยอดเยี่ยมที่ศูนย์การค้าลักซ์ซูรี่ระดับโลกมีการคอแลปกับศิลปินแบบนี้ ที่สร้างพื้นที่ให้ผลงานศิลปะได้สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นผู้เยี่ยมเยือน ให้ทุกอย่างแบบฟรี ๆ”
ผลงานอาร์ตอินสตอลเลชั่น AURORA ของปาสคาล ดอมบีส์ จัดแสดงอยู่ ณ สยามพารากอน ชั้น 5 เข้าชมฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย