BACK TO EXPLORE

แรงบันดาลใจที่ไม่มีใครเคยรู้ ‘ฟิลิป โคลแบร์’ ศิลปินผู้สร้างจิตวิญญาณล็อบสเตอร์ยักษ์โลดแล่นทั่วโลก

บทสัมภาษณ์เพื่อทำความรู้จักศิลปินป๊อปอาร์ตแห่งยุค ที่จะเนรมิตรอินสตอลเลชั่น “จักรวาลล็อบสเตอร์” (The Lobster) ขึ้นที่สยามพารากอนอย่างยิ่งใหญ่ ในเทศกาลสงกรานต์ 2567 ปีนี้

สยามพารากอน ผนึกกำลังร่วมกับธนาคารกสิกรไทย และ JOOX สร้างปรากฏการณ์ระดับโลก ครั้งแรกของการคอลลาบอเรชั่นอย่างเป็นทางการกับ ศิลปินป๊อปอาร์ตระดับโลก “ฟิลิป โคลแบร์” (Philip Colbert) นำ “จักรวาลล็อบสเตอร์” (The Lobster) ผลงานศิลปะอันโด่งดังแลนดิ้งสู่ประเทศไทยสุดยิ่งใหญ่ เนรมิตอินสตอลเลชั่นอาร์ตสุดอลังการขึ้นที่ พาร์ค พารากอน ตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งระดับโลก (World Class Shopping Destination) และตอกย้ำความเป็นที่ 1 ในใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เป็นการเฉลิมฉลองอภิมหาสงกรานต์ที่พิเศษที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และป๊อปที่สุด!



รู้จักกับฟิลิป โคลแบร์: ศิลปินผู้มีตัวตนเป็นลอบสเตอร์

“ผมกลายเป็นศิลปิน เมื่อผมกลายเป็นล็อบสเตอร์” กล่าวโดยฟิลิป โคลแบร์ ศิลปินชาวสกอตแลนด์ ที่มาเติบโตและทำงานโลดแล่นในประเทศอังกฤษ ผู้ที่กำลังมาแรงในตอนนี้ เขาคือศิลปินที่สร้างผลงานระดับโลกด้วยคาแรกเตอร์ของล็อบสเตอร์สีสันสดใสที่มาพร้อมท่าทางสนุกสนาน โคลแบร์ได้สร้างนิยามทางศิลปะของตนเองผ่านความหลงใหลในการใช้สัญญะ, การสร้างตัวตน และเสรีภาพในการแสดงออก “ในฐานะศิลปิน ผมมีอิสระอย่างแท้จริงที่จะก้าวข้ามไปในโลกที่ผมใช้จินตนาการสร้างสรรค์มันขึ้นมา” เขาอธิบายแนวคิดให้ฟังตอนที่เจอกัน

Lobster at Marina Bay Sands, Singapore

โคลแบร์ ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกให้เป็นหนึ่งในสุดยอดศิลปินป๊อปอาร์ตร่วมสมัย เขาได้ร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Rolex, Montblanc, Christian Louboutin และ COMME des GARÇONS รวมถึงได้จัดแสดงงานในหอศิลป์หลากหลายประเทศ ทั้ง Saatchi Gallery ที่กรุงลอนดอน the Museo Archeologico Nazionale ที่เมืองเนเปิลส์ และ the Whitestone Gallery ที่สิงคโปร์ และตอนนี้โคลแบร์กำลังจะนำงานประติมากรรมล็อบสเตอร์แนวไฮเปอร์ป๊อปของเขามาจัดแสดงในกรุงเทพ ที่พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตลอดเทศกาลสงกรานต์นี้ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 16 เมษายน 2567


ทายาทแอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ป๊อบคัลเจอร์อาร์ทติสตัวพ่อ

งานของโคลแบร์โดดเด่นด้วยความฉูดฉาด และสไตล์แฟนตาซี จนทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ทายาทของแอนดี้ วอร์ฮอล’ ที่สานต่องานป๊อปอาร์ตสไตล์เอกเพรสชั่นนิสต์ในยุคปัจจุบัน “แต่ผมก็ไม่ได้เป็นทายาทจริงๆ ของแอนดี้ วอร์ฮอลหรอกนะ!” เขายืนยันไปพร้อมกับเสียงหัวเราะ “แต่แน่นอนว่าผมได้รับแรงบันดาลใจจากเขา เช่นเดียวกับศิลปินคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นประติมากรอย่าง อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ หรือศิลปินเกาหลีอย่าง นัม จุน เพ็ก (Nam June Paik) และก็มี รอย ลิคเทนสไตน์  (Roy Fox Lichtenstein) อีกคนด้วย” มีคุณสมบัติหนึ่งในตัวศิลปินเหล่านั้นที่โคลแบร์ชื่นชม “พวกเขามีความเป็นนักแสดง และแสดงตัวตนผ่านคาแรกเตอร์ที่พวกเขาสร้าง” เขากล่าว “เช่นเดียวกับผม ล็อบสเตอร์ก็คือด้านที่เป็นศิลปินของผม ตัวตนของล็อบสเตอร์ก็คือภาพสะท้อนของอิสรภาพที่ผมมีในการสร้างตัวตนทางศิลปะของผมเอง

Lobster at Venice, Italy


ทำไมต้องเป็น ‘ล็อบสเตอร์’

เป็นเพราะสัตว์ทะเลชนิดนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย ทั้งรูปร่างที่ดูเหมือนสิ่งมีชีวิตมาจากต่างดาว และมีความหมายเชิงสัญญะในโลกศิลปะ สิ่งเหล่านี้จุดประกายจินตนาการให้โคลแบร์ “ล็อบสเตอร์เป็นสัญลักษณ์สำคัญทางศิลปะมายาวนาน ในสมัยโบราณ ล็อบสเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะโมเสคและจิตรกรรมฝาผนัง มันเป็นส่วนหนึ่งของภาพหุ่นนิ่งของชาวดัตช์ มาจนถึงยุคศิลปะแบบเซอร์เรียลิสม์ ซัลวาดอร์ ดาลี ก็ใช้ล็อบสเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของผลงานชิ้นเด่นๆ ของเขา” มิสเตอร์ล็อบสเตอร์อธิบาย ตัดมาที่ยุคของฟิลิป โคลแบร์ ล็อบสเตอร์ก็ถูกใช้เป็นสัญญะและมีตัวตนในแบบฉบับของมันเอง “เมื่อผมมองย้อนไปในอดีต ผมเห็นว่าล็อบสเตอร์เป็นคาแรกเตอร์สำคัญ ผมหลงใหลล็อบสเตอร์ในฐานะที่มันเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายในงานของผม และคนก็เริ่มเรียกผมว่าล็อบสเตอร์แมน”

Lobster at Gstaad Palace, Switzerland


กว่าจะเป็นมิสเตอร์ล็อบสเตอร์

โคลแบร์จบการศึกษาด้านปรัชญามาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ และการเรียนปรัชญาอาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาหลงใหลสัตว์ทะเลตัวนี้ “ตอนที่ผมเรียนปรัชญา ผมสนใจเรื่องอารมณ์ขันและการเสียดสีที่เกี่ยวข้องกับป๊อปคัลเจอร์” แน่นอนว่า ล็อบสเตอร์ของโคลแบร์มีคาแรกเตอร์ที่สนุกสนาน สดใส ร่าเริง ขี้เล่น  มันเป็นการหลอมรวมกันระหว่างศิลปะที่เต็มไปด้วยสัญญะกับอิทธิพลจากศิลปะยุคโบราณ ที่โดดเด่นด้วยความมีชีวิตชีวา และการแหวกขนบ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างงานศิลปะ “ชั้นสูง” กับงานป๊อปอาร์ต “ตลาดล่าง” ดูพร่าเลือน ล็อบสเตอร์ของโคลแบร์สะท้อนแนวคิดของผู้สร้างที่ว่างานศิลปะไม่จำเป็นต้อง “จริงจัง” เสมอไป เจ้าตัวได้ขยายความว่า “ผมไม่ชอบการเสแสร้ง ศิลปะมันคือความสนุก”

Lobster at Modern Art Museum, Shanghai

เพราะงานของโคลแบร์ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเช่นนี้เอง การจัดแสดงงานที่กรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงดูพอเหมาะพอเจาะกันเป็นอย่างมาก สงกรานต์คือหนึ่งในเทศกาลรื่นเริงและเปี่ยมไปด้วยสีสันมากที่สุดในประเทศไทย ล็อบสเตอร์และงาน “ป๊อปอาร์ตสุดแนว” ตามที่โคลแบร์ได้ที่นิยามตัวเองไว้ ก็เข้ากันดีสุดๆ กับเทศกาลสนุกสุดเหวี่ยงอย่างสงกรานต์ ตลอดเทศกาลจะมีคนหลายหมื่นคนแวะเวียนมาชมงานของเขาที่สยามพารากอน และโคลแบร์รู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่งานของเขาจะได้เข้าถึงผู้ชมที่หลากหลาย “ผมตื่นเต้นจริงๆ ที่จะได้มากรุงเทพ ผมว่ากรุงเทพฯ มีเสน่ห์ทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สีสัน และงานสถาปัตยกรรมภายในเมือง” นี่เป็นครั้งแรกที่ผลงานของฟิลิปถูกนำมาจัดแสดงที่ประเทศไทย บริเวณพาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยฟิลิปได้ดึงเอาวัฒนธรรมไทยเข้ามาผสมในชิ้นงาน เราจะได้เห็นล็อบสเตอร์ถือปืนฉีดน้ำ, ขี่หลังช้าง และขึ้นรถตุ๊กตุ๊ก เป็นการแสดงถึงความรักที่ศิลปินมีให้เมืองไทย


ส่งพลังผ่านงานศิลปะ

และนี่ยังเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ ที่โคลแบร์จะได้มาจัดแสดงงานในศูนย์การค้าอย่างสยามพารากอน แทนที่จะเป็นหอศิลป์ แล้วเขาคิดว่าคนที่มาดูงานจะรู้สึกกับงานของเขาต่างไปจากคนที่มาดูงานของเขาที่หอศิลป์หรือไม่? "ถึงผมจะเชื่อว่าการใช้มัลติมีเดียจะทำให้งานศิลปะเข้าถึงคนในวงกว้าง ผมก็เชื่อว่าไม่มีงานศิลปะชิ้นไหนที่จะถูกใจคนทุกคนได้หรอก" โคลแบร์กล่าว “และบางครั้ง การที่คนไม่ชอบนั้นน่าสนใจกว่าด้วยซ้ำ” การสร้างงานให้คนชอบไม่ใช่เป้าหมายของฟิลิป โคลแบร์ ไม่ต่างจากศิลปินตัวจริงคนอื่นๆ “สำหรับผม ศิลปะไม่ใช่เรื่องของการมีคนมาชอบ ศิลปะคือการถ่ายเทพลังงาน เวลาคุณมองดอกทานตะวัน คุณสัมผัสได้ถึงพลังของแสงอาทิตย์ที่เจิดจ้า” โคลแบร์อธิบาย

Lobster at Huashan 1914 Creative Park, Taiwan

“ผมอยากให้งานของผมมีผลแบบเดียวกัน อยากให้มันเป็นมวลพลังงานที่ส่งไปถึงผู้ชม ผมมองศิลปะเป็นการเฉลิมฉลองให้กับความสนุกและอิสระเสรี” โคลแบร์อยากให้งานของเขาที่สร้างความคึกคักและมีชีวิตชีวาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สยามพารากอน และส่งต่อพลังบวกให้ทุกคนในบริเวณนั้น

Lobster at Roman Rooftops

โคลแบร์ตื่นเต้นมากที่จะได้มาเมืองไทยเพื่อจัดแสดงงานในกรุงเทพช่วงสงกรานต์นี้ และเขายังเชิญชวนให้ศิลปินรุ่นใหม่ของไทยหันมาสนใจวัฒนธรรมไทยอีกด้วย “ยิ่งคุณอยู่ในประเทศอย่างประเทศไทย ที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ อย่ากลัวที่จะใช้ประโยชน์จากมรดกที่คุณมี มีเรื่องราวอันน่าทึ่งมากมายให้คุณพูดถึงในเมืองนี้” เขากล่าว “คุณสามารถใช้ศิลปะทำให้จิตวิญญาณความเป็นไทย มันร่วมสมัยในแบบฉบับของคุณเองได้ เล่าเรื่องของคุณ และสร้างตัวตนของคุณขึ้นมา” โคลแบร์ทิ้งท้าย


สงกรานต์ปีนี้เตรียมพบกับ “ดินแดนล็อบสเตอร์ยักษ์” ผลงานสุดอลังการที่โคลแบร์สร้างสรรค์และภูมิใจนำเสนอเป็นที่แรกในโลก! ในเทศกาลมหาสงกรานต์สุดยิ่งใหญ่ งาน Siam Paragon Ultrasonic Water Festival 2024 “Songkran Lobster Wonderland by Philip Colbert” ระหว่างวันที่ 9-16 เมษายน 2567 ณ พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน