BACK TO EXPLORE

‘สานศิลป์ แผ่นดินสยาม’ อลังการขวานทองจากผ้าไทย

ผลงานศิลปหัตถกรรม โดยศิลปินชื่อดังและช่างฝีมือไทย เฉลิมพระชนมพรรษา 90 ปี สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้คุณเยี่ยมชมที่สยามพารากอน

 เพราะ ‘ผ้าไทย’ เป็นงานส่งเสริมศิลปาชีพที่เป็นอีกหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณใต้พระบารมีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนี พระพันปีหลวง ที่ทรงงานเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่กลายเป็นพระราชกรณียกิจมายาวนานกว่า 60 ปีในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และพัฒนาภูมิปัญญาไทยท้องถิ่นสู่อาภรณ์อันงดงามที่สร้างอาชีพให้กับคนไทยพื้นถิ่นต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมและยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยล้ำค่า

ภาพประจักษ์แก่พสกนิกรทั่วแผ่นดินไทยนี้เอง ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจออกแบบ ‘สานศิลป์ แผ่นดินสยาม’ โดยศิลปินนักออกแบบชื่อดัง มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ผู้เคยมีโอกาสร่วมทำงานกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ถ่ายทอดความงดงามผ้าไทยบนรูปแบบขวานทอง (แผนที่ไทย) พร้อมแนวร่วมนักออกแบบชื่อดัง อาทิ ดร.กรกต อารมย์ดี, ดร.เรืองลดา ปุณยลิขิต, อ.ชัยนรินทร์ ชลธนานารถ, ยุทธนา อโนทัยสินทวี และวลงค์กร เทียนเพิ่มพูล และช่างฝีมือไทยจากทั่วทุกภาคของไทย มาสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ภายใต้แนวคิด ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ณ สยามพารากอน เพื่อให้ชาวโลกได้ประจักษ์ฝีมืออันวิจิตรศิลป์ของช่างไทย




เพราะความตั้งใจถ่ายทอดให้คนไทยได้เห็นถึงความงดงามของผ้าไทยอันทรงคุณค่าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยนำมารังสรรค์ผ่านเทคนิคการทอผ้าบนตาข่าย ขึ้นโครงร่างสร้างเป็นรูปประเทศไทยในความสูงกว่า 21 เมตร อันประกอบไปด้วยผ้าหลากสีสัน หลากชนิด หลากพื้นถิ่นที่เหลือใช้อยู่ในโครงการศิลปาชีพ นำมาถักทอหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เปรียบได้กับความสามัคคีของคนไทย ซึ่ง คุณมุก เพลินจันทร์ วิญญารัตน์ เล่าถึงความภาคภูมิใจในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ว่า เป็นเกียรติและรู้สึกมีความสุขอย่างยิ่งในทุกขั้นตอนที่ได้ทำงาน



สำหรับแนวคิดนำมาผ้ามารังสรรค์เป็นแผนที่ประเทศไทยในครั้ง ดีไซเนอร์แม่งานหลักผู้บรรเจิดไอเดียอันตื่นตาตื่นใจครั้งนี้ได้กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นโครงการนี้ จากการที่มุกเคยร่วมทำงานในบางโครงการกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และพิพิธภัณฑ์ผ้ามาก่อน ทำให้ได้แรงบันดาลใจจากผ้าไทยแต่ละภาคที่มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์แตกต่างกัน แม้แต่เทคนิคการทอการเย็บยังไม่เหมือนกันเลย มันก็เหมือนสำเนียงคนเราเวลาพูด ภาคกลางก็สำเนียงหนึ่ง ใต้ก็ไปอีกแบบ อีสานก็ต่างไป ภาษาเหนือก็มีความเฉพาะ เรียกว่าสำเนียงต่างกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ และนี่จึงเป็นที่มาของไอเดีย Textile Map ที่ปรากฎในห้อง Activity room ของพิพิธภัณฑ์ผ้า จากนั้นจึงนำไอเดียดังกล่าวมาต่อยอดเป็นผลงานการทอและสานผ้าให้เป็นรูปขวานทอง แผนที่ประเทศไทย โดยเลือกใช้สีสันและผ้าชนิดเดียวกับที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เมื่อเสร็จแล้วจึงแขวนลงมาจากเพดาน ห้อยเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย ลอยตัวอยู่ในในพื้นที่โซนจีเวล ชั้น M ของสยามพารากอน”

“เราอยากให้ผลงานครั้งนี้ดูตื่นตาตื่นใจด้วยขนาดผลงาน 12 เมตร x 21 เมตร น้ำหนัก 900 กิโลกรัม คือหนักมากในการติดตั้ง โดยลักษณะโครงสร้างที่ออกแบบให้คล้ายแผนที่ประเทศไทย ก็ไม่ได้ตั้งใจให้เหมือนเป๊ะมาก เพราะนี่คืองานอาร์ตที่อยากให้ออกแนว Abstract มุกว่างานศิลปะแล้วแต่คนจะมอง ความสวยและความสนใจคือมองแล้วไปคิดต่อในเรื่องราวต่าง ๆ มากกว่า บางคนจะมองเป็นขวานทองแบบมุก มีบางคนก็มองเป็นนกยูง นี่คือความเป็นอาร์ตที่อยากมองไปเป็นอะไรก็ได้ค่ะ”





“ผลงานสำคัญนี้ มุกแค่หวังว่าเรื่องราวครั้งนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติอยากเดินตามรอย กลายเป็นแรงบันดาลใจที่อยากเรียนรู้เรื่องผ้าไทยเชิงลึกยิ่งกว่าไปอีก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็อยากเรียนเชิญทุกคนไปดูนิทรรศกาศกันได้ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘พิพิธภัณฑ์ผ้า’ ที่บอกเล่าเรื่องราวผ้าไทยใต้พระบารมีผ่านบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า เข้าไปแล้วคุณจะรู้เลยว่า ทอผ้าหนึ่งผืนกว่าจะได้มาต้องผ่านอะไรบ้าง แต่เป็นการเล่าเรื่องที่สนุกค่ะ เข้าใจง่าย”

ผลงาน ‘สานศิลป์ แผ่นดินสยาม’ จึงเปรียบเสมือนประตูด่านแรกที่เปิดต้อนรับผู้สนใจในงานศิลปะผ้าไทย ได้มีโอกาสมาเสพงานศิลป์ขนาดย่อก่อนนำไปสู่ผลงานนิทรรศการผ้าไทยแบบเต็มรูปแบบที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถต่อไปนั่นเอง

และไม่เพียงโครงร่างรูปแผนที่ประเทศไทยขนาดมหึมาอลังการงานสร้างเท่านั้น แต่ยังมีงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าที่ตกแต่งโดยรอบพื้นที่โซนจีเวล ชั้น M ของสยามพารากอน โดยเป็นผลงานสร้างสรรค์จากนักออกแบบชื่อดัง อาทิ ดร.กรกต อารมย์ดี, ดร.เรืองลดา ปุณยลิขิต, อ.ชัยนรินทร์ ชลธนานารถ, ยุทธนา อโนทัยสินทวี และวลงค์กร เทียนเพิ่มพูล รวมทั้งกลุ่มช่างฝีมือไทยทั่วทุกภาคของประเทศไทย ต่างร่วมกันรังสรรค์ผลงานหัตถศิลป์ที่บอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในสังคมเกษตร พร้อมรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและภูมิปัญญาต่าง ๆ ของงานหัตถศิลป์ ภายใต้แนวคิด ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ โดยใช้สัญลักษณ์ปลาในท้องถิ่นมาผสานกันแรงบันดาลใจของภาพปลาในจิตรกรรมฝาผนังจากวัดต่าง ๆ ของแต่ละภาค ออกแบบเป็นประติมากรรมจักสานอันวิจิตรงดงาม




สำหรับวัสดุที่ใช้นำมาจากวัสดุธรรมชาติของท้องถิ่นทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน อาทิ ไม้ไผ่ กระจูด ใบตาล ใบลานหวาน เป็นต้น ซึ่งหัตถศิลป์รูปปลาแต่ละชนิดมีขนาดเล็กใหญ่ตั้งแต่ 1-2 เมตร แขวนลอยโดดเด่นเพื่อเสริมให้ประติกรรมรูปแผนที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นยิ่งขึ้น  ทั้งนี้การนำเสนอผลงานสร้างสรรค์โดยศิลปินนักออกแบบชื่อดังชาวไทย มาจัดแสดงในพื้นที่สยามพารากอนซึ่งเป็นโกลบอลเดสติเนชั่น ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้มีโอกาสสัมผัสผลงานอันน่าอัศจรรย์นี้ เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นในการนำเสนอผลงานนักออกแบบชาวไทยสู่สายตาเวทีโลก

“พวกเรามีเวลาเพียง 10 วันในการสร้างสรรค์ผลงานหัตถศิลป์ งานจักสานตัวปลาท้องถิ่นของไทยเพื่อสอดคล้องในคอนเซ็ปต์ ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ โดยคุณมุกเป็นชวนผมมาร่วมโปรเจ็กท์ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ พอเราได้ฟังไอเดียผลงานในส่วนของคุณมุกที่ได้แรงบันดาลใจจากการทรงงานส่งเสริมศิลปาชีพด้านผ้าไทยให้แก่ชาวบ้านในสมเด็จพระพันปีหลวง สร้างเป็นโครงร่างขนาดใหญ่ที่ประดับด้วยผ้านานาชนิดจากทุกภาคของประเทศไทย เราก็คิดต่อยอดให้เชื่อมโยงกัน ในเมื่องานเด่นของเราเป็นงานจักสาน เราเป็นพื้นที่ชุมชนและนักสร้างสรรค์ชาวเกษตร ก็คิดในเรื่องในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เลยได้รูปทรงของปลามาเป็นสัญลักษณ์ของการจักสานเพื่อการเล่าเรื่องในครั้งนี้” ดร.กรกต อารมย์ดี นักออกแบบไทยจากเพชรบุรี ที่มีผลงานโดดเด่นในศิลปะงานจักสานและเป็นตัวแทนผู้สร้างสรรค์ผลงานหัตถศิลป์ของ ‘สานศิลป์ แผ่นดินสยาม’ เริ่มต้นบอกเล่าการร่วมมือกันในครั้งนี้



“สัญลักษณ์ ‘ปลาท้องถิ่น’ สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหารของประเทศไทย เลยนำรูปทรงปลาที่ออกแบบให้วิจิตรงดงามขึ้นจากปลาที่เป็นงานจิตรกรรมบนฝาผนังของวัดต่าง ๆ ในแต่ละภาค โดยภาคเหนือได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย เป็นงานจักสานปลาช่อน ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในนาข้าว แต่ไม่กินต้นข้าว เขาจะกินพวกหอย การสร้างสรรค์ชิ้นงานมีการใช้ทักษะเชิงช่างที่อยู่ทางภาคเหนือ คือการดุนโลหะ เพื่อให้ตัวปลามีความวิจิตร มีลวดลาย เป็นความวิจิตรของทัศนศิลป์ในเชิงช่างครับ”

“ส่วนปลาของทางอีสานเราเลือก “ปลาแค้” เป็นปลาสำคัญในแม่น้ำมูลที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว สร้างสรรค์เป็นจักสานด้วยเส้นใยของไม้ไผ่และไม้กกในลักษณะลวดลายของ ‘ฮูปแต้ม’ จิตกรรมฝาผนังแบบอีสานที่เห็นได้จากวิหาร หอไตร ฯลฯ ของวัดต่าง ๆ ในโทนสีของการย้อมครามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของช่างฝีมือทางอีสาน”






“สำหรับปลาสัญลักษณ์ภาคกลางที่อยู่กับประมงพื้นบ้าน ก็จะเป็น “ปลาม้า” และ “ปลายี่สก” ซึ่งใกล้จะสูญพันธุ์เช่นกัน โดยออกแบบในลักษณะที่มีลวดลายของจิตรกรรมของวัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี โดดเด่นด้วยสีส้มและสีเหลืองแบบเดียวกับในจิตรกรรมฝาหนังเลย ส่วนงานจักสานสร้างสรรค์ด้วยการมัดผูก พันเชือกเข้าไปในตัวไม้ไผ่ให้มีสีสันที่ชัดเจนครับ”

“ลงไปที่ภาคใต้ เราใช้เลือกเป็น “ปลากุเลา” ที่มีรสชาติอร่อยมาก ภาคใต้เรามีนาเกลือที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีรสชาติความเค็มที่เฉพาะและแตกต่างจากเกลือเพชรบุรี ด้วยความเป็นน้ำกร่อย เกลือมีรสชาติไม่เค็มจัด ออกรสหวานหน่อย ๆ โดยปลากุเลาเมื่อรับประทานกับเกลือปัตตานียิ่งทำให้มีรสชาติอร่อย สำหรับปลากุเลาครั้งนี้เราใช้กระจูดเป็นจักสาน เป็นกระจูดขึ้นในป่าพรุที่สูงชะลูดและเป็นเส้นเล็ก ๆ ทำให้สานได้แน่น ยิ่งใช้ยิ่งทน”





“การร่วมสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ สำหรับผมมองเห็นการแสดงศักยภาพมากกว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งนี้ ทำให้เกิดความสามัคคี เกิดความอบอุ่น เกิดการลงแขกช่วยเหลือกันจนกลายเป็นพลังอย่างหนึ่งที่ทำให้ความอบอุ่นใจกลับมา ทำให้ผมเห็นศักยภาพของความเป็นเชิงช่างที่มีประสบการณ์และความชำนาญที่สูงสุด สามารถสร้างสรรค์วัสดุรอบตัวให้เกิดความมหัศจรรย์กลายเป็นผลงานจักสานตัวปลาท้องถิ่นจากแต่ละภาค และยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ช่างฝีมือไทยเหล่านี้ว่า สมเด็จพระพันปีหลวงยังคงระลึกถึงชุมชนที่ทำหัตถกรรมอย่างแน่นแฟ้น”

“นอกจากนี้ ผมยังเห็นพลังแห่งการรวมใจ รวมตัว รวมทักษะของแต่ละคนมาช่วยกันประดิษฐ์ปลากันคนละตัวสองตัว ทำให้เกิดความสามัคคี เกิดความอบอุ่น ผมได้เห็นเจเนอเรชันรุ่นใหม่ ๆ มาร่วมทำงานกับช่างฝีมือรุ่นพ่อรุ่นแม่ นี่คือการรักษาและอนุรักษ์ สืบทอดกันต่อไป ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี พี่มุกเชิญให้เราได้มาร่วมคิดและร่วมสร้างโปรเจ็กท์นี้ เกิดเป็นการรวมตัวกันของดีไซเนอร์และทีมช่างฝีมือไทย และขอบคุณทางสยามพารากอนด้วยให้โอกาสนักออกแบบไทยและช่างฝีมือไทยท้องถิ่นได้แสดงฝีมือหัตถศิลป์ไทยแท้ ๆ พวกเราทุกคนดีใจและภูมิใจกับการร่วมทำงาน ‘สานศิลป์ แผ่นดินสยาม’ อย่างที่สุดครับ” ดร.กรกตกล่าวทิ้งท้าย