BACK TO EXPLORE

Sustainable Fashion 2023 เมื่อแฟชั่น (ยังคง) ควรหันมารักษ์โลก

แท็กสินค้าที่ระบุว่า ‘ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล’ ภายในช็อปสินค้าแฟชั่น ตั้งแต่แบรนด์ขนาดเล็กไปจนถึงแบรนด์ระดับโลกกลายเป็นเรื่องปกติในยุคสมัยนี้ที่ผู้บริโภคในวงการแฟชั่นหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนกันมากขึ้น

ประเด็น Sustainable Fashion (แฟชั่นที่ยั่งยืน) หรือ Eco Fashion (แฟชั่นที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม) กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่ได้รับความสนใจในวงกว้างในช่วงปีหลังๆ นี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่เดิมอุตสาหกรรมแฟชั่นคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อโลก ทั้งขยะเสื้อผ้าที่ถูกฝังกลบสูงถึง 10 ล้านตันในแต่ละปี ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากธุรกิจ Fast Fashion (แฟชั่นที่มาไวไปไว) อีกทั้งยังมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราวๆ 10% ของอัตราการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก รวมถึงการใช้น้ำถึง 2,700 ลิตร สำหรับการปลูกฝ้ายเพื่อผลิตเสื้อยืดเพียง 1 ตัว และยังไม่นับรวมถึงสารเคมีจากขั้นตอนการผลิตต่างๆ ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนในดินด้วย



การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมแฟชั่น

ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวประเด็น Sustainability ในอุตสาหกรรมแฟชั่น เนื่องจากปัญหานี้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทรัพยากรโลกและเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของภสวะโลกร้อน เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความสำคัญและออกมาเคลื่อนไหว แบรนด์แฟชั่นหลายๆ แบรนด์ก็ขานรับ ไม่ว่าจะเป็นการนำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บมาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่อย่างแบรนด์ละออ เครื่องประดับแบรนด์ไทยที่มีสไตล์ของตัวเองอย่างชัดเจน หรืออย่างแบรนด์ Marks & Spencer, H&M, Nike และ Adidas ที่หันมาใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตเสื้อผ้า

หนึ่งในวัสดุรีไซเคิลที่เราสามารถพบเห็นได้มากคือ ‘โพลีเอสเตอร์รีไซเคิล’ ซึ่งได้จากการนำรีไซเคิลขวดน้ำพลาสติกที่สะอาดมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลเพื่อเปลี่ยนให้เป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์สำหรับผลิตเสื้อผ้า ที่มีคุณภาพไม่ต่างกันกับเส้นใยโพลีเอสเตอร์แบบปกติ แต่กลับส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของโลกมากกว่า เพราะนอกจากจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์แบบปกติแล้ว ยังเป็นหนึ่งในช่องทางลดขยะพลาสติกที่กำจัดได้ยากอีกด้วย

ในส่วนของฝ้ายที่เป็นหนึ่งในวัสดุหลักสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นเอง ก็มีการพัฒนามาใช้การปลูกแบบอินทรีย์ (Organic) ที่ไม่ใช้สารเคมี ทำให้ไม่มีสารเคมีตกค้างและปนเปื้อนในดิน การปลูกฝ้ายแบบออร์แกนิกนี้ยังใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกฝ้ายแบบเดิมถึง 71% ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการประหยัดน้ำที่เป็นทรัพยากรวสำคัญของโลก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันเราจะพบเห็นคำว่า ‘Recycled Polyester’ และ ‘Organic Cotton’ บนป้ายสินค้าแฟชั่นจนชินตา


Sustainable Fashion VS Fast Fashion

แม้จะมีการพัฒนากรรมวิธีการผลิตสินค้าแฟชั่นให้ ‘รักษ์โลก’ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ตราบใดที่ค่านิยมในเรื่องของ Fast Fashion หรือแฟชั่นที่มาไวไปไว มีการเปลี่ยนแปลงเทรนด์อยู่ตลอดเวลายังคงอยู่ ก็คงไม่สามารถทำให้เกิดแฟชั่นที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงได้ ดังนั้นนอกจากการใช้วัสดุรีไซเคิลหรือการปลูกแบบออร์แกนิกแล้ว Fast Fashion ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หลายแบรนด์หันมาให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

ทางออกของเรื่องนี้ได้นำพาเรามาสู่ ‘การใช้ซ้ำ’ ดังที่เราจะเห็นว่าบรรดาดีไซเนอร์ของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างหันมาเน้นดีไซน์ที่มีความคลาสสิก เรียบง่าย อยู่เหนือกาลเวลา เพื่อให้สามารถใช้งานได้เป็นเวลานาน และสามารถใช้งานร่วมกับไอเท็มชิ้นอื่นได้อย่างลงตัวโดยอาศัยการมิกซ์แอนด์แมตช์ กระทั่งการพัฒนาดีไซน์ให้เป็นแบบ Gender-Fluid (สไตล์ไร้เพศ) เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ให้คู่รักหรือคนใกล้ชิ้นสามารถแชร์ไอเท็มแฟชั่นด้วยกันได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่



ตัวอย่างที่น่าจับตามองมาจากคอลเล็กชั่น Winter 2022 ของ Saint Laurent โดย Anthony Vaccarello ที่นำเสนอการมิกซ์แอนด์แมตช์ไอเท็มโดยใช้ซิลูเอตและรูปทรงสร้างความน่าสนใจ ด้วยการหยิบเบลเซอร์หรือแจ็กเก็ตสูทที่มีโครงร่างใหญ่และอยู่ทรงในสไตล์แมสคิวลีน มาจับคู่กับเดรสยาวบางพลิ้วที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายเฟมินีน ความคอนทราสต์ของซิลูเอตและรูปทรงชวนให้เกิดเสน่ห์อันดึงดูด และเป็นตัวอย่างแก่คอแฟชั่นว่าทักษะการมิกซ์แอนด์แมตช์นั้นทรงพลังมากขนาดไหนในโลกแฟชั่น เราสามารถสร้างสรรค์ลุคที่โดดเด่น น่าสนใจจากไอเท็มที่มีอยู่แล้วในตู้เสื้อผ้าได้ หากเรามีทักษะการมิกซ์แอนด์แมตช์ที่ดี

ตลอดจนการเลือกนำไอเท็มชิ้นไอคอนิกประจำแบรนด์มาปัดฝุ่น เพิ่มความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เข้ากับโลกในปัจจุบัน อย่าง Gucci Jackie 1961 ที่เคยได้รับความนิยมเมื่อครั้งอดีต (จากการปรากฏบนหน้าสื่อพร้อม Jackie Kennedy สุภาพสตรีหมายเลข 1 ในขณะนั้นอยู่บ่อยครั้ง) ก็ถูกนำกลับมาปรับรูปลักษณ์หรือวัสดุให้เข้ากับยุคสมัยขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ Gucci Jackie 1961 กลับมามีบทบาทในโลกแฟชั่นปัจจุบัน (หลังจากที่เคยอวดโฉมบนรันเวย์มาแล้วเมื่อปี 1999 และปี 2009) ดังนั้นกระเป๋าใบเก๋จากอดีตที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเก็บไว้ในตู้อย่างเรียบร้อย ก็กลายเป็นกระเป๋าโมเดิร์นที่พร้อมให้หยิบมาอวดสายตาชาวโลกอีกครั้ง โดยไม่ต้องกังวลกับคำว่า ‘ตกยุค’



‘การใช้ซ้ำ’ นับว่าเป็นบทสรุปที่ดีต่อทุกฝ่าย เพราะนอกจากจะเป็นการตอบรับกระแส Sustainable Fashion ลดขยะและมลพิษจากการผลิตเพื่อโลกแล้ว สำหรับผู้บริโภคเองก็คงต้องยอมรับว่า ค่านิยมการใช้ซ้ำนี้ช่วยให้ประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้มากโข ในขณะเดียวกัน การสร้างสรรค์ผลงานให้คลาสสิกอยู่เหนือกาลเวลา และสามารถหยิบมาใช้งานได้ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ก็ได้กลายมาเป็นความท้าทายใหม่ที่ช่วยโหมไฟของบรรดาดีไซเนอร์ให้ลุกโชนอีกครั้ง


ทุนนิยม: ศัตรูอันดับ 1 ของ Sustainable Fashion

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ากระแส Sustainable Fashion ตลอดจนค่านิยมการใช้ซ้ำจะสร้างความปลาบปลื้มให้กับทุกฝ่าย เพราะสำหรับกลุ่มทุนแล้ว การใช้ซ้ำหรือการนำไอเท็มที่มีมามิกซ์แอนด์แมตช์ให้เกิดสไตล์ใหม่ๆ เท่ากับโอกาสในการขายสินค้าที่ลดลง เมื่อผู้คนมีทางเลือกที่จะสร้างสรรค์สไตล์และไม่เคยเอาต์ จะมีเหตุผลอะไรที่ทำให้ต้องควักกระเป๋าซื้อของใหม่

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่วงการแฟชั่น (หรืออันที่จริงก็แทบทุกวงการ) ไม่อาจเป็นเอกเทศจาก ‘ทุนนิยม’ ได้ เพราะแม้สิ่งที่ขับเคลื่อนวงการอันหวือหวาและเต็มไปด้วยสีสันนี้คือความคิดสร้างสรรค์อันไม่รู้จบของเหล่าดีไซเนอร์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังม่านของทุกรันเวย์นั้นจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนหนาพอตัว และต่อให้ตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ที่ถือว่าเป็นผู้กุมบังเหียนของแบรนด์จะใหญ่เพียงใด ก็คงไม่อาจใหญ่ไปกว่านายทุน (ที่ให้ความสำคัญกับยอดขายเป็นหลัก) ได้แน่นอน ดังนั้นท่ามกลางกระแส Sustainable Fashion ที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ดีไซเนอร์ออกแบบผลงานใหม่ที่สามารถแมตช์กับผลงานเก่าๆ ของตนเองได้อย่างเพอร์เฟกต์ (ทำให้ไอเท็มจากคอลเล็กชั่นเก่าๆ ไม่เคยตกยุค) เรากลับพบเห็นการเปลี่ยนตัวครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแต่ละแบรนด์อยู่บ่อยครั้ง และครั้งล่าสุดที่ทำให้คนแฟชั่นช็อกไปตามๆ กันก็คือ การลาออกของ Alessandro Michele ผู้นำกระเป๋า Jackie 1961 กลับมาขึ้นรันเวย์ Gucci อีกครั้งในคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2020 และต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน

แม้จะไม่มีการเปิดเผยสาเหตุของการลาออกอย่างเป็นทางการ แต่บรรดาคนแฟชั่นรวมถึงแฟนๆ เองต่างก็ตั้งข้อสงสัยว่า หรือนี่จะเป็นผลพวงมาจากการที่ Alessandro Michele มุ่งมั่นและพยายามสร้างแฟชั่นที่คลาสสิก ปราศจากกาลเวลา (เพราะไอเท็มที่ Alessandro Michele ในปี 2015 ยังคงนำมาแมตช์กับไอเท็มที่เขาออกแบบในปีนี้ได้อย่างทันสมัย)


การรับมือกับทุนนิยมในมุมมองของผู้บริโภค

ความต้องการขายสินค้าให้มากยิ่งขึ้นในทุกสัปดาห์คือสาเหตุที่ทำให้เราเห็นโฆษณาสินค้าแฟชั่นที่บ่อยขึ้นในโลกออนไลน์ และไอเท็มแต่ละชิ้นก็จะถูกสับเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์ (จนแทบจะบ่อยเกินความจำเป็น) เพื่อสร้างสงครามจิตวิทยาให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเทรนด์แฟชั่นกำลังเปลี่ยนไป ตนเองกำลังจะเอาต์ และต้องรีบซื้อสินค้าใหม่ให้เร็วที่สุด แต่ต่อให้อำนาจของเงิน (ในการโฆษณา) จะทรงพลังขนาดไหน ขอเพียงผู้บริโภคไม่โอนอ่อนไปตามการชักสูงและสงครามจิตวิทยานั้น เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหล่าดีไซเนอร์ที่เรารัก และช่วยต่ออายุของโลกใบนี้ออกไปได้



สิ่งที่ผู้บริโภคสามารถทำได้ง่ายที่สุดคือ เมื่อใดก็ตามที่มีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าแฟชั่น ควรเลือกซื้อสินค้าที่มีป้ายระบุว่า ‘ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล’ หรือ ‘ผลิตจากฝ้ายออร์แกนิก’ เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายของเรากลายเป็นการส่งเสริมการทำลายทรัพยากรโลก

การหันหลังให้กับ Fast Fashion ด้วยการใช้ซ้ำ ใช้ไอเท็มที่มีอยู่แล้วให้บ่อยครั้งและคุ้มค่า ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการสนับสนุน Sustainable Fashion เพราะไอเท็มเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าใช้แล้วทิ้ง จึงนำไปสู่คำแนะนำในการเลือกซื้อไอเท็มที่มีดีไซน์เหนือกาลเวลาและไอเท็มที่มีความเรียบง่าย เนื่องจากไอเท็มเหล่านี้สามารถนำมาแมตช์กับไอเท็มอื่นๆ ได้ง่าย แมตช์ได้หลายลุค นำมาใช้ได้บ่อยๆ โดยไม่มีเบื่อ

สุดท้ายคือการฝึกทักษะในการมิกซ์แอนด์แมตช์ให้เกิดสไตล์ที่ใช่ในแบบของตนเอง จากแฟชั่นไอเท็มที่มี เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สไตล์ของตนเองอย่างชัดเจน เราจะไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับแฟชั่นไอเท็มที่ไม่เหมาะกับตนเอง ส่งผลให้ไม่เกิดการซื้อสินค้ามาแล้วทิ้งไปโดยที่ยังไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์


แม้ Sustainable Fashion จะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่จริงๆ นั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคนมากกว่าที่คิด เพราะเมื่อใดที่เรายังใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรก็เท่ากับความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตเรา และอายุของโลกก็คืออายุของมนุษย์อย่างเราเช่นกัน