BACK TO EXPLORE

ปรากฏการณ์ THE GLOBAL TECH TALK @SCBX NEXT TECH รวมความรู้จากบุคคลสำคัญในแวดวง Tech ทั่วโลก ที่จะทำให้คุณ Smarter, Better, Richer

บุคคลสำคัญในแวดวง Tech จากทั่วโลก บนเวที “THE GLOBAL TECH TALK @ SCBX NEXT TECH” ปรากฏการณ์รวมตัวครั้งสำคัญของผู้นำโลกเทคโนโลยี

ปรากฏการณ์ระดับโลก “THE GLOBAL TECH TALK @ SCBX NEXT TECH” งานแรกในประเทศไทยที่รวบรวมบุคคลสำคัญระดับโลกของวงการเทคโนโลยีทุกแขนง จากนานาประเทศ กว่า 20 คนมาร่วมเป็น Speaker แบ่งปันองค์ความรู้สาระอัดแน่นไว้ที่นี่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ งานจัดขึ้นในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ Siam Paragon Next Tech X SCBX ชั้น 4 สยามพารากอน เทคคอมมูนิตี้เพื่อการเรียนรู้แห่งโลกอนาคต ที่เกิดขึ้นเพื่อหวังจุดประกายขับเคลื่อนผู้คนให้ Smarter, Better และ Richer

งานนี้ได้รับเกียรติจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, คุณแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย, คุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด พร้อมด้วยพันธมิตรอีกมากมายหลายส่วน ร่วมเปิดงานอย่างเป็นทางการ






บนเวทีเสวนามีหัวข้อที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ นำทีมแชร์ความรู้และประสบการณ์โดยกูรูผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี ด้าน Fintech เทคโนโลยีทางการเงิน และบทบาทของเทคโนโลยีที่มีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจ ภาคสังคม เป็นต้น และอีกหลากหลายประเด็น ที่อัดแน่นด้วยสาระตลอดทั้ง 8 เซสชั่น เราหยิบยกเนื้อหาความน่าสนใจบางส่วนมาให้ทุกคนได้ชมกัน





Session 1: The Evolution of Fintech

Speakers: Mr.Reuben Lim COO, Singapore Fintech  Association /  Mr.Derrick Loi General manager, International Business Group of Ant Group / Mr.Michael  Sung Chairman, Horizaen Digital and Director, Institute of Digital Finance Innovation, Zhajiang University International Business School / บุญญรัตน์  กิตติวรวุฒิ ผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย / ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส


ย้อนกลับไป วิวัฒนาการของเทคโนโลยีการเงิน Fintech ได้เปลี่ยนแปลงเด่นชัดในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากในประเทศจีนที่เริ่มมีการชำระเงินด้วย QR Code หลังจากนั้นทั่วโลกก็ใช้เงินสดลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถานการณ์นี้อาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้เศรษฐกิจมีความเติบโตรวดเร็ว ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME ได้รับประโยชน์อย่างมากเพราะเงินหมุนเวียนกลับมาได้เร็ว สภาพคล่องสูงมากขึ้น ขณะเดียวกัน วิวัฒนาการของ Fintech นั้นยังไม่มีหยุดยั้ง


เทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาพัฒนาฟินเทคในระยะต่อไปมี 2 ส่วน คือ หนึ่งคือ เทคโนโลยีบล็อกเชนเพราะเป็นเสมือน ‘จิ๊กซอว์’ เชื่อมข้อมูลจากทุกส่วนบนโลกให้เกิดการประสานกันในระบบดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ สอง คือ เทคโนโลยีการควบคุม (Regtech) เพราะสามารถกำหนดมูลค่า และขอบเขต กฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินทุกระบบที่จะเกิดขึ้น

สิ่งที่น่าจับตานับจากนี้ คือ บริการทางการเงินแบบ “การเงินฝังตัว (Embed Finance)” หรือบริการทางการเงินที่ฝังตัวอยู่ในทุกรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยที่ผู้ดำเนินการจะไม่ใช่แค่ธนาคารเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่อาจจะเป็นธุรกิจใดก็ได้ ยกตัวอย่าง เช่น แพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ ที่สามารถให้บริการทางการเงินร่วมกับสินค้าหรือบริการหลักที่ทำอยู่ได้ โดยมีข้อได้เปรียบสำคัญคือ การมีความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าเป็นอย่างดี  ดังนั้น ถึงจุดนี้ ธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินนั้นจำเป็นต้องวิ่งไล่ตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอย่างมาก


กล่าวคือ Fintech มีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาด้านความปลอดภัยทางการเงินจากการยืนยันตัวตนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย มากกว่านั้น ข้อที่ประเทศไทยที่ต้องตระหนักและพัฒนา คือ ผู้คนกว่า 80% ในประเทศไทย ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินมากนัก จึงต้องสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้มากยิ่งขึ้น และการสร้างความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนต่อไป


Session 2: Thailand's Competitive Edge: Unique Advantages And Opportinities For Tech Entreoreneurs

Speakers: ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) / ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทอุ๊คบี (Ookbee) / อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด (Techsauce)

ปัจจุบันโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการลงทุนในประเทศไทย คือ การลงทุนใน ‘ปัจจัยพื้นฐาน’ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการดูแลสุขภาพ ระบบสาธารณสุข การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพสังคมสูงอายุ และการผลิตในโรงงานต่างๆ


ในขณะที่บทบาทสำคัญของภาครัฐ คือ การเร่งแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เอื้อในการสนับสนุนภาคธุรกิจ เช่น การทำ Talent Visa เพื่อให้คนเก่งๆ เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้มากขึ้น หรือนโยบาย Matching Funds เพื่อให้ต่างชาติมาลงทุน เข้าไปส่งเสริมกลุ่มธุรกิจต่างๆ ให้มากขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้น ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเรื่องการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งหลายประเทศทำแล้ว และได้ผลดี โจทย์สำคัญที่ประเทศไทยต้องทำต่อไปคือการปฏิรูประบบการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยแนวคิด International Mindset





Session 3: The PINK LAB Presents : Forging the Future with Global WEB3 Leaders of Thailand

Speaker: ชญาภา จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ พิงค์แล็บ จำกัด (The Pink Lab)

คุณชญาภา จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ พิงค์แล็บ จำกัด มองเห็นโอกาสในปัจจุบันที่เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคของ WEB3.0 วิวัฒนาการขั้นใหม่ของอินเทอร์เน็ต THE PINK LAB และ สยามพิวรรธน์จึงร่วมกัน สร้างพื้นที่ Siam Paragon Next Tech x SCBX เพื่อเป็นเวที แลกเปลี่ยน เรียนรู้จากผลิตภัณฑ์ระดับโลก เป็นโอกาสให้คนที่ต้องการจะขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ได้มาเรียนรู้เพื่อร่วมกันสร้างมูลค่าของเศรษฐกิจประเทศไทย



อธิบายเพิ่มเติม
Web1.0 เป็นยุคแรกของอินเทอร์เน็ต ที่เราสามารถทำได้แค่อ่านหรือดาวน์โหลดข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์ และไม่สามารถโต้ตอบหรือสร้างเนื้อหาขึ้นบนเว็บไซตำได้ ในขณะที่ Web2.0 ซึ่งก็คืออินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบัน ที่ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, X (Twitter) และเว็บไซต์อื่นๆ นั้นล้วนจัดเป็น Web2.0 ที่สามารถ “สร้าง” หรือ “อัพโหลด” เนื้อหาของตัวเองขึ้นไปอยู่บนเว็บไซต์ได้ เช่น การโพสต์รูปลง Facebook การอัพโหลดสินค้าลงเว็บไซต์ เป็นต้น และนั่นเองที่ทำให้ยุคนี้เกิดแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์มากขึ้น โดย “ตัวกลาง” ในการควบคุมเนื้อหาต่างๆ ก็คือแพลตฟอร์มเหล่านี้นั่นเอง

ส่วนในยุคของ Web3.0 ที่เรากำลังพูดถึง คือ การมาของอินเทอร์เน็ตแนวคิด “Decentralized Web” หรือการเป็นเว็บไซต์แบบกระจายศูนย์ “ไม่พึ่งพา” ตัวกลางแค่เว็บไซต์หรือแหล่งเดียวอีกต่อไป เจ้าของข้อมูลสามารถควบคุมได้เอง ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว นอกจากนั้นยังมีการใช้ AI และเทคโนโลยีสุดล้ำที่จะทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตในยุคนี้นั้นถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพขึ้น และที่น่าสนใจ คือ ตั้งแต่ในยุค Web 2.0 นั้นเข้ามาส่งผลและพลิกโฉมทั้งในเชิงธุรกิจและสังคมเราอย่างมาก จึงเป็นไปได้ที่ Web3.0 นั้นจะขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอลที่มีมูลค่าสูง


อาจกล่าวได้ว่าคำตอบหนึ่งที่สำคัญในยุคของ WEB3.0 คือ Siam Paragon Next Tech x SCBX  เพราะคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ และมองหาสถานที่ที่จะได้เรียนรู้ มองหาว่าเขาจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง และจะสามารถทำอะไรได้บ้าง

“ประสบการณ์ของ THE PINK LAB ที่เป็นที่ปรึกษาและให้บริการ ด้าน Digital การสร้างชุมชน และนวัตกรรมให้กับบริษัททั่วโลก เราได้เรียนรู้อย่างมากจากที่สุดของโลก เมื่อมีโอกาสเราจึงนำคนเก่งๆ  ทั้งจาก TIKTOK The SANDBOX, NFT Now มาแชร์ วิสัยทัศน์ให้เห็นว่าโลกกำลังเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไร แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้คนที่มีความหวังจะใช้เทคโนโลยีพัฒนาสังคมไทยไปด้วยกัน” คุณชญาภา จูตระกูลกล่าว


Session 4: Emersion Point in WEB3

Speakers: Mr. Simon Seojoon Kim CEO & Managing Partner, Hashed / Mr. Hojin Kim CSO, UNOPND


ถือได้ว่าประเทศเกาหลีใต้นั้นเป็นประเทศที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมดิจิตอลมานานแล้วกว่าสิบปี ความสำเร็จพิสูจน์ได้จากการมีตลาดเกมส์ที่ประสบความสำเร็จมีรายได้มากที่สุด ขณะเดียวกันตลาด K-Pop ก็มุ่งผลทำรายได้ในแพล็ตฟอร์มออนไลน์และ WEB3.0 มหาศาล (ตัวอย่างเช่น เหล่าค่ายเพลงชื่อดังของเกาหลีหลายค่าย ขยับขยายการจัดแฟนมีตติ้งไปสู่โลก Metaverse ที่สร้างขึ้นใหม่ของตัวเองโดยเฉพาะ พร้อมทั้งออกของที่ระลึก (Merchandise) เป็นผลงาน NFT สุดว้าวให้แฟนๆ ได้จับจองเป็นเจ้าของ)


สิ่งที่น่าตื่นเต้นในก้าวต่อไป คือล่าสุด SCBX ประกาศจับมือกับ Hashed บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีต่างๆ และทดลองค้นหานวัตกรรมที่จะส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีแบบกระจายอำนาจหรือ Web3.0 การวิจัยปัญหาการบูรณาการในการใช้ข้อมูลต่างๆ ไปจนถึงการอบรมวิศวกรผู้ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา Web3.0 ต่อไป นับจากนี้ก็จับตาดูก้าวต่อไปว่า Web3.0 ของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป


Session 5: The Future of Media

Speaker: Mr. Alejandro Navia Co-Founder & President, NFT Now

พัฒนาการของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)ได้เข้ามามีบทบาทต่อวงการสื่อ ยุคสมัยที่สังคมต้องการ ‘ความเชื่อถือ’ ของสื่อ NFT Now จึงได้พัฒนาเครื่องมือช่วย “ตรวจสอบยืนยัน” ข้อเท็จจริง เรียกว่า Sovereignty Tokenized Media Product-Suit เพื่อขับเคลื่อนให้บริษัทสื่อและสิ่งพิมพ์ต่างๆ สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้อย่างโปร่งใส เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ปลดล็อคข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านไปสู่แพลตฟอร์มที่รองรับ Web 3.0 ได้อย่างยืดหยุ่น


NFT Now มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 ล้านคน ใน 196 ประเทศ และเข้าถึงผู้ใช้งานแล้ว 3 ล้านคน อีกทั้งมีพันธมิตรจากแบรนด์ดังทั่วโลกกว่า 30 ราย เพราะเชื่อมั่นว่า โมเดลของแพลตฟอร์ม NFT Now ตอบโจทย์ความต้องการ ในเรื่องการส่งมอบข้อมูลที่เป็น “ความจริง” และเชื่อถือได้ (Accountability) อีกทั้ง สามารถแปลงสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นสิทธิในครอบครอง เพิ่มมูลค่าต่อยอดสู่การสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ในรูปแบบ NFT


Session 6: Unlocking Brand Value

Speaker: Mr. Sebastien Borget CO-Founder & COO, THE SANDBOX

The Sandbox แพลตฟอร์มโลกเสมือนใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามา “ปลดล็อค” Brand Value ให้ไม่ใช่แค่พื้นที่เล่นเกมส์ แต่เปิดให้ผู้ใช้งาน ผสมผสาน และสร้างให้เกิดคอนเทนต์ใหม่ๆ เพื่อประสบการณ์ใหม่จากการ Own, Build, Play, Meet and Earn เป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึง NFT สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้จริงภายใน The Sandbox Metaverse


ระบบนิเวศทางธุรกิจที่สร้างมูลค่าได้จริงแบบนี้ ทำให้แบรนด์มองเป็นโอกาสที่จะสร้างความ คุ้นเคยกับลูกค้าได้ ทำให้ The Sandbox มีพันธมิตรระดับโลกจากวงการต่างๆ กว่า 700 ราย ครอบคลุม แฟชั่น กีฬา เกม เพลง บันเทิง การเงิน-การธนาคาร การศึกษา ช้อปปิ้ง เป็นต้น เอเยนซี่มากกว่า 200 ราย สตูดิโอเกมกว่า 100 ค่าย รวมถึงสถาบันการศึกษา และพันธมิตรด้านเทคโนโลยี

ปัจจุบัน มากกว่า 75% ของกลุ่มคน Gen Z ไม่ใช่เพียงผู้บริโภคแต่ต้องการเป็นผู้สร้าง (Creator) ในปี 2565 มีมูลค่าการทำธุรกรรมผ่าน NFT (Non-fungible token) สูงถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ The Sandbox จะพัฒนาต่อไปด้วยได้ด้วยการเปิดรับข้อเสนอแนะจากผู้ใช้งานจริง ให้ความเป็นเพื่อนบ้าน ช่วยกันสร้างคุณค่าขึ้นมาร่วมกัน วิธีการที่สามารถพุดคุยกันได้เพิ่มศักยภาพให้กับครีเอเตอร์ ในการสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ผ่านโลกเสมือนจริงบนโซเชียลเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้สามารถสร้างงานใหม่ให้กับอีกหลายล้านคน


Session 7: Unlocking Business Potential Power By AI

Speaker: Mr. Brendon Matheson Solution Area Specialist, App Innovation, Microsoft

ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ถูกพัฒนาจนมีความสามารถเป็นเครื่องมือปลดล็อคสู่การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ จากเดิมที่เพียงสามารถให้ข้อมูล  คิดไอเดียต่างๆ  ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ความสามารถ ผลิตเนื้อหา ย่อยข้อมูล ตลดจนสร้างแอปพลิเคชั่นได้แล้ว


Generative AI ที่มีความสามารถสร้างเนื้อหาขึ้นใหม่จากข้อมูลเดิมที่ถูกใส่เข้าไป หัวใจของการเครื่องมือ AI เพื่อสร้างความแตกต่างทางธุรกิจ คือข้อมูลความรู้ที่มีอยู่ภายในองค์กร การเก็บรวบรวมข้อมูลรวมถึงการป้อนข้อมูล เพราะทำให้ AI ได้รับบริบทที่แตกต่างกันออกไป และตอบโจทย์ได้ตรงตามที่ต้องการ

ไมโครซอฟท์ ให้ความสำคัญกับแนวโน้มนี้และได้พัฒนาร่วมกับ Open AI เพื่อนำ ChatGPT ซึ่งเป็นโปรแกรมเลียนแบบการสนทนาของมนุษย์ ไปติดตั้งในผลิตภัณฑ์ทุกตัวของไมโครซอฟท์ โดดเด่นในการโต้ตอบบทสนทนา และการจดจำข้อมูลต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ หลังจากเปิดตัว Chat GPT ภายใน 5 วัน มีผู้ใช้แล้วกว่า 100 ล้านคน และยังเข้าไปปฏิรูปอุตสาหกรรมธุรกิจต่างๆ แล้วอีกมากมาย ทั้งปลดล็อคการสร้างการเรียนรู้ในห้องเรียน ช่วยให้เกษตรกรได้เรียนรู้และผลิตอาหารได้มากขึ้น พัฒนาความจดจำและการให้ข้อมูลกับคนตาบอด และการพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของระบบค้นหาสถานที่ในรถยนต์ชั้นนำ และล่าสุดได้พัฒนาเวอร์ชั่นใหม่ ChatGPT0-4 ตามมาแล้วอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การใช้ AI จะต้องมีความรับผิดชอบ เพราะในทางหนึ่งอาอจก่อให้เกิดความเสียหายได้ จำเป็นต้องมีการทดสอบ ประเมินผลเพื่อป้องการความผิดพลาดในทุกขั้นตอน


Session 8: Employee Experience in The Digital Age

Speakers: Mr. Atul Harkisanka Regional Business Head, Linkedin / เปรมชัย บุญเสริมวิชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท Job Passcard


Linkedin บริษัทพัฒนาทรัพยากรบุคคลระดับโลก ได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยประมวลผลข้อมูลทำให้บริษัทต่างๆ ได้เห็น ความสามารถอันโดดเด่นของผู้คนและตัดสินใจจ้างงานได้ดีขึ้น ทำให้ผู้คนทั้งโลกเชื่อมกันใน Linkedin ได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น ที่น่าสนใจ Linkedin ยังได้นำ AI เข้ามาช่วยพนักงานในการทำงานเดิมๆ ซ้ำ ทำให้พนักงานมีเวลาพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆ และมีสัมพันธภาพกันได้มากขึ้น ในเรื่องนี้ หากแต่ละองค์กรจะนำ AI เข้ามาใช้มากเพียงใด อาจจำเป็นต้องพิจารณาและเข้าใจในคุณค่าจุดแข็งของตนเองด้วย



การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบัน พนักงานต้องตระหนักว่า “ทักษะดิจิตัล” เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปรับตัว เรียนรู้ ขณะที่บริษัทต้องให้ทรัพยากรแก่พนักงานทั้งเวลาและปัจจัยอื่นๆ ในการเรียนรู้ พัฒนาความสามารถ พร้อมทั้งตระหนักว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือการลงทุนกับพนักงานที่อยู่ในองค์กรเอง และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้คนแตกต่างกัน และแตกต่างจาก AI คือ “Soft Skill” นั่นคือ ความมี Leadership มีทักษะในการสื่อสารอย่างมีกลยุทธ์  และการมีส่วนร่วมในการช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งหมดนี้จึงจะทำให้อยู่รอดได้ในอนาคต


สัมผัสประสบการณ์สุดดิจิทัลด้วยตัวคุณเองได้แล้ววันนี้ ณ SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX เทคคอมมูนิตี้แห่งโลกอนาคต ชั้น 4 สยามพารากอน 

อย่าลืมกดติดตาม อัพเดตกิจกรรม และข้อมูลข่าวสารด้านเทคโนโลยีมากมายจากนานาประเทศ ที่ Official Facebook Page : SCBXNextTech